กล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองปราจีน (Paphiopedilum concolor)
เป็นหนึ่งในกล้วยไม้รองเท้านารีที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทย
ซึ่งพบทั้งหมดจำนวน ๑๗ ชนิด มีลักษณะของดอกสีเหลืองสดใส
และใบลายหินอ่อนที่สวยงาม ความพิเศษก็คือสามารถออกดอก
ได้หลายครั้งตลอดปี ในขณะที่รองเท้านารีส่วนใหญ่จะออกดอก
เพียงปีละหนึ่งครั้งเท่านั้น รองเท้านารีเหลืองปราจีนมีการกระจายพันธุ์
อย่างกว้างขวาง ในบริเวณพื้นที่เหนือภาคใต้ของประเทศไทย
พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณจังหวัดอุดรธานี
จึงถูกนำมาตั้งชื่อเรียกว่า รองเท้านารีเหลืองอุดร ส่วนที่พบมาก
ในแถบจังหวัดปราจีนบุรี นครราชสีมา และสระบุรี ก็จะถูกเรียกว่า
รองเท้านารีเหลืองปราจีน และอีกบริเวณที่พบมากคือบริเวณ
จังหวัดกาญจนบุรี ก็ยังถูกตั้งชื่อว่า รองเท้านารีเหลืองกาญจน์
จากการค้นคว้าวิจัยของนักพฤกษศาสตร์ โดยใช้เทคนิคการเปรียบเทียบ
ลำดับดีเอ็นเอ ภายใต้โครงการวิจัยของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า
และพันธุ์พืช ข้อมูลจากผลการทดลองที่ได้ สนับสนุนว่ารองเท้านารี
ทั้งสามพื้นที่ดังกล่าว แสดงค่าความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมใกล้เคียงกันมาก
สะท้อนให้เห็นถึงความใกล้ชิดทางพันธุกรรมในระดับที่สูงมาก
ซึ่งยืนยันได้ว่า เป็นชนิดเดียวกัน เพียงแต่มีเขตการกระจายพันธุ์
ที่ต่างบริเวณกันเท่านั้น และยังสอดคล้องกับการศึกษาทางสัณฐานวิทยา
ของต้นและดอกที่คล้ายคลึงกันมากเช่นกัน
ปัจจุบันกล้วยไม้รองเท้านารีชนิดแท้ทั้งหมดในโลก มีอยู่ไม่น้อยกว่า
๗๐ ชนิด ในประเทศไทยไทยมีมากถึงหนึ่งในสาม
ของจำนวนทั้งหมดที่พบในโลก นับเป็นความโชคดีของคนไทย
ที่เป็นเจ้ามรดกทางธรรมชาติที่สวยงาม และทรงคุณค่านี้ครับ
แต่น่าเสียดายที่กล้วยไม้รองเท้านารีทั้งหมด ถูกจัดให้อยู่ในบัญชี
แนบท้ายที่หนึ่ง ของอนุสัญญาไซเตส ซึ่งหมายความว่า เป็นพืชที่ถูก
คุกคามจนมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ ห้ามทำการค้าระหว่างประเทศ
โดยเด็ดขาด หากเป็นเช่นนี้แล้ว ความเป็นเจ้าของมรดกอันทรงคุณค่า
จะมีประโยชน์ใด นอกจากการดูมันสูญพันธุ์ไปเรื่อย ๆ ทีละชนิด ๆ
|